เมทิลโบรไมด์ตกค้างในข้าว ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ช่วยเราได้ครับ

By | 07/10/2013

วันนี้เอาเกร็ดน่ารู้เชิงวิทยาศาสตร์มาฝากกัน หลังจากมีกระแสความสับสนเรื่องข้าวเกิดขึ้น เรื่องข้าวปนเปื้อนเมทิลโบรไมด์ ที่ฟังดูอลังการน่ากลัว มาสู่ข้อมูลน่ารู้กันบ้างครับ เอาเป็นความรู้บ้านๆ จากผมที่แชร์กันในฐานะคนใกล้ข้าว และเคยเรียนเคมีมาบ้าง แชร์เพื่อนๆ อ่านกันให้พอมีความรู้ ระหว่างช่วงเวลากระแสข้าวที่สับสนตอนนี้ครับ

ข้าวปนเปื้อนเมทิลโบรไมด์ ทำยังไง

ข้าวปนเปื้อนเมทิลโบรไมด์ ทำยังไง

ข้อเท็จจริงเรื่องนึง คือ เมทิลโบรไมด์ นี่ทีจริงแล้วเป็นสารเคมีที่นำมาใช้ในการรมควันผลิตผลทางการเกษตรทั่วโลก โดยปริมาณการใช้ตามที่ต่างๆ ในโลกตามข้อมูล NaBr, Science Lab Material Safety Data Sheet (MSDS) – 2012 คือ USA 43% EU 24% Asia 24%

สารชนิดนี้ใช้ในการรมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทั่วโลกมานานกว่า 95 ปีแล้ว ไม่ใช่สารใหม่ที่เพิ่งนำมาใช้ หรือโลกเพิ่งรู้จักและบ้านเราดันสุ่มสี่สุ่มห้าเอามาใช้แต่อย่างใดครับ เหตุผลที่นำมาใช้เพราะเมทิลโบรไมด์มีจุดเดือดต่ำ ที่ 3.54 oC หลังจากเอามารมควัน พวกมอด แมลง ตาย เมทิลโบรไมด์ก็ระเหิดไป เพราะตามปกติเมทิลโบรไมด์มีสภาวะเป็นก๊าซ เจออุณหภูมิสูงแบบบ้านเราในที่อากาศโปร่ง ก็จะระเหิดไป (ลองนึกนึกถึงลูกเหม็นที่ใช้ตามบ้าน ที่มันระเหิดไปตามเวลา) เพราะฉะนั้นถ้ารมควันเสร็จแล้วปล่อยให้ระเหิดไปตามกำหนดเวลาก็จะเป็นเรื่องปกติ พอพบว่ามีมอดแมลงอีก ก็ค่อยรมควันกันใหม่เป็นคราวๆไป (ที่ต้องเอารมใหม่เพราะสารมันระเหิดไปหมดแล้ว มอดแมลงก็มาใหม่ได้ ก็จะต้องรมควันกันเป็นคราวๆไป)

คุณสมบัติเรื่องนี้ถือเป็นจุดเด่น ที่ทำให้ทั่วโลกเลือกใช้เมทิลโบรไมด์เป็นสารรมควัน (fumigant)
สำหรับผลิตผลทางการเกษตร มาเกือบร้อยปี (ตอนนี้มีฟอสฟีนอีกตัว ที่กำลังจะเปลี่ยนไปใช้ เพราะ methyl bromide มีผลต่อโอโซน)

ความเป็นสารพิษนั้นที่ต้องระวังกันจริงๆ คือ ผู็ที่เก็บสารนี้ และผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรมควัน เพราะต้องนำเมทิลโบรไมด์มาใช้ในสภาพแวดล้อมปิด ซึ่งมีความเข้มข้นของเมทิลโบรไมด์สูงในระดับอันตราย ส่วนการตกค้างที่เกิดขึ้นได้ คือ ถ้ารมควันเสร็จแล้วรีบเก็บบรรจุในสภาวะปิด เช่น ในถุงพลาสติก แทนที่จะรอให้ระยะเวลาผ่านไปตามที่กำหนด
จัดการชีวิตอย่างไรท่ามกลางเมทิลโบรไมด์โฟเบีย

เครดิตภาพคุณ Tom Quick

ทีนี้มาว่ากันในประเด็นเรื่องที่เกิดมี เมทิลโบรไมด์ตกค้างในข้าว เราจะทำไง มันอันตรายมากไหม ถึงชีวิตไหม เปิดถุงมาเราจะตายไหม หรือเอามาหุงข้าวแล้วจะฆาตกรรมหมู่ครอบครัวไหม เปิดมาแล้วทำไมเหม็น

เหตุผลที่เหม็น เหตุผล ข้อแรก ก็น่าจะเป็นการใช้ฟอสฟีน (Phosphine, H3P) เพราะกลิ่นฟอสฟีนคล้ายกลิ่นปลาเน่า ส่วนเมทิลโบรไมด์ ปกติไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ถ้าไม่ใช่เพราะเกิดปัจจัยไม่บริสุทธิ์จนมีกลิ่น ก็คงจงใจให้มีกลิ่น (อาจจะเป็นเหตุผลแบบเดียวกับการใช้เตาแกสในบ้านเรา คือ พวกนี้จริงๆไม่มีสี ไม่มีกลิ่นมากพอที่จะทำให้คนที่ใช้สารตัวนี้ทันรู้ตัวว่ามีสารเมทิลโบรไมด์ อยู่ ก็เป็นกฏหมายบังคับให้ใส่กลิ่นให้รู้ตัวทันท่วงที โดยเฉพาะคนที่ทำหน้าที่รมควัน ถ้าไม่มีกลิ่นเป็นที่สังเกตให้ทันรู้ตัวโดยไว้ มีโอกาสที่จะพลาดได้รับสารเมทิลโบรไมด์ โดยไม่ทันตั้งตัว)

ดังนั้นสรุปข้อสังเกตง่ายๆ ข้อแรก คือ เรื่องกลิ่น เพราะกลิ่นสารตกค้างมันต่างจากกลิ่นข้าวปกติ กลิ่นนี้เป็นตัวสังเกตง่ายๆตัวแรก และถ้ามันตกค้างในถงที่บรรจุข้าวออกไปไหนไม่ได้ เราก็จะได้กลิ่น และรู้ว่ามันมีเมทิลโบรไมด์ มีฟอสฟีน อยู่นะ อย่าเพิ่งกิน อย่าเพิ่งใช้ จัดการมันให้เสร็จก่อน

แล้วกินได้ไหม ถ้าเอามากินใส่ปากเลยตอนนั้นก็คงกินไม่ได้ละครับ แต่ว่าปกติแล้วก่อนกิน ถ้าเรารู้คุณสมบัติหลักของสารเมทิลโบรไมด์ และฟอสฟีน ที่มันระเหิดง่าย ก็แค่เอาข้าวมาเกลี่ยตากแดดจัดๆ ให้มันระเหิด ถ้ามีเวลา หรือจะเปิดถุงข้าวมาใส่กาละมัง หรือถาดในที่อากาศโปร่งถ่ายเทสะดวกในอุณหภูมิห้อง พัดลมเป่าๆ ทิ้งไว้สักหน่อยให้มันระเหิด ในที่อากาศโปร่งถ่ายเทนอกบ้าน  ก่อนจะทานข้าวก็ค่อยเอาข้าวมาแช่น้ำแล้วซาวน้ำทิ้ง  เมทิลโบรไมด์ ก็จะละลายตามน้ำไปแล้ว

สารเคมี ถ้าเรารู้จักคุณสมบัติของมัน และวิธีแก้ มันก็คือการใช้อย่างมีความรู้ การมีความรู้ในการจัดการข้าวที่ถูกต้องก็เป็นเรื่องสำคัญของปากท้องของเราและครอบครัว

สรุปง่ายๆ ว่า เมทิลโบรไมด์ จัดการได้ถ้ามีความรู้ในการจัดการ ต่อให้มันตกค้างมาจากในถุงจากโรงสีเราพอจะจัดการได้ในระดับที่เราเอามาทานได้ปลอดภัยสำหรับเราและครอบครัว ไม่ใช่อยู่กับความไม่รู้ และความกลัวสารเคมี กลายเป็น เมทิลโบรไมด์โฟเบีย ซึ่งอาจจะต้องกำจัดเมทิลโบรไมด์ทั้งประเทศออกไปเพื่อจะได้หายจากความกลัว ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วมันเป็นไปไม่ได้ นอกจากว่าเราจะทำให้เรามีความรู้ในการรับมือกับเมทิลโบรไมด์ และจัดการมันได้ในฐานะที่มีความรู้ในการจัดการที่ถูกต้อง

ปล.1 แทคติกง่ายๆ ครับ ตรวจง่ายทำได้เองทุกคน อันดับแรก คือ กลิ่น เปิดถุงมาถ้าได้กลิ่น (ก็อย่าถึงขนาดเอาจมูกไปซูกถุงสูดกลิ่นนะครับ อันนั้นก็ไม่ควร เปิดแล้วพอมีกลิ่นออกมากก็พอรู้แล้วนะ)
#ถึงขั้นตอนนี้ ใครคาใจอยากเอาแบบชัวร์ละเอียดว่ามันมีค่ามากน้อยเท่าไหร่ก็มีขั้นตอนวิทยาศาสตร์ ก็ส่งทดสอบเถอะครับ 

หลักการจัดการต่อมาง่ายๆ ก็จัดการให้เมทิลโบรไมด์ มันระเหิดไปซะ ถ้าจัดการให้มันระเหิดไปได้หมด ไม่มีกลิ่น แล้วก็ค่อยเอามาใช้บริโภค ถ้ากลัวมาก ควรเอาไปเกลี่ยๆ ตากแดด แดดจัดๆ สัก ชม.ในที่โปร่ง เมทิลโบรไมด์ ที่มีจุดเดือดแค่ 3.54 C มันจะซึมซับในอณูไหนไม่ระเหิดไปในสภาวะที่อุณหภูมิสูงกว่าจุดระเหิดในระยะเวลาที่กำหนด ก็แปลว่ามันไม่ใช่เมทิลโบรไมด์ แล้วล่ะ (อันนั้นไว่ค่อยยกประเด็นกันต่อนะครับ..)

ปล. 2 จากข่าวการตรวจสอบของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มตรวจข้าวถุง 46 ยี่ห้อ ในจำนวนนี้ 12 ยี่ห้อไร้สารตกค้าง ส่วนอีก 34 ยี่ห้อพบสารเมทิลโบรไมด์ ระหว่าง 0.9-67.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

สรุปว่าจากการตรวจสอบของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ที่เป็นกลาง  มี 1 ยี่ห้อ ที่พบการปนเปื้อนสูงถึง 67.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ พูดกันตรงๆ ง่ายๆ ว่ามีที่ไม่ได้ทำตามขั้นตอนทั้งหมดก่อนจัดส่ง มีการรมควันสารเมทิลโบรไมด์หลังจากบรรจุถุงแล้ว และไม่ได้ปล่อยให้สารในถุงระเหยจนค่า ppm ต่ำ ก่อนจัดส่งไปจุดจำหน่าย ซึ่งยี่ห้อนั้นก็เป็นที่รู้จักกันดีแล้ว ที่จริงก็น่าจะชัดเจนในระดับหนึ่ง บริษัทไหนทำตัวแย่ มักง่ายก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า ทาง อย.สุ่มตรวจเจอเกินก็จัดการไปตามเนื้อผ้า ส่วนเราก็อย่าตื่นตระหนกเป็น Methyl Bromide Phobia เมทิลโบรไมด์โฟเบีย โดยปราศจากความรู้กันเลยครับ

ปล.ใครมีความรู้ขยายความเพิ่มเติม หรือต้องการให้ข้อมูลเพิ่มเติมก็บอกได้นะครับ ขอให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์กับส่วนรวม ร่วมด้วยช่วยกันทำความเข้าใจกัน